โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข พ.ศ. 2567

|

โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” มีแนวคิดที่ว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นเสาหลักในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ วัดจึงถือเป็นสถานที่สำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทย ต่อมาวัดกลายเป็นสถานที่ผู้คนในทุกระดับมาใช้จนทำให้วัดกลายเป็นที่สกปรก ไม่เรียบร้อย ขาดการวางระบบการจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับวัด รวมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะภายในวัดยังไม่เป็นระบบ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น สถาบันอาศรมศิลป์ ได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้ดำเนินการพัฒนาโครงการวัดสร้างสุขและวัดบันดาลใจ เพื่อพัฒนารูปแบบและนำแนวคิด ๕ ส ซึ่งประกอบไปด้วย สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย ลงสู่บริบทของวัด เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นสถานที่ร่มรื่น สวยงาม เหมาะสมกับการเรียนรู้ เป็นพื้นที่แบบอย่างทางด้านกายภาพและด้านจิตใจ รวมถึงการนำแนวคิดการออกแบบพื้นที่ตามหลักภูมิสถาปัตยกรรมมาใช้ในการพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่สัปปายะ เป็นอารามที่รื่นรมย์ มีความสวยงามตามหลักภูมิสถาปัตยกรรมไทย เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาวะทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจ สังคม และปัญญาสืบต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข

             ๑. เพื่อพัฒนารูปแบบและนำแนวคิดของ ๕ส ซึ่งประกอบไปด้วย สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย ลงสู่บริบทของวัดและชุมชน

             ๒. เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ทางจิตใจและปัญญา โดยการบูรณาการแนวคิด ๕ ส หลักสัปปายะ ๗ และหลักความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ประชาชนโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง

             ๓. เพื่อพัฒนาและจัดระบบฐานข้อมูล องค์ความรู้ในการพัฒนาวัดและชุมชน รวมทั้งการออกแบบพื้นที่ของวัดให้เป็นสัปปายะสถานและการพัฒนาสู่วิถีแห่งอารยสถาปัตย์

             ๔. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในสังคมไทย รวมถึงกลุ่มวิชาชีพ ตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม การมีจิตอาสา ความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อทำให้เกิดสังคมสุขภาวะและความยั่งยืน

หลักการทำงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข 

             โครงการใช้กระบวนการ ๕ส หลักสัปปายะ ๗ และหลักความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นหลักการสำคัญในการพัฒนากิจกรรมและพื้นที่ทางกายภาพของวัด โดยมีหลักการสำคัญ ได้แก่

             ๑. การจัดการพื้นที่ทางกายภาพ โดยมีการจัดการพื้นที่ทางกายภาพของวัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยมีการดำเนินการใน ๒ ด้าน ประกอบด้วย

                   ๑) การออกแบบผังแม่บทและการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อฟื้นฟูความศักดิ์สิทธิ์ สัปปายะ และความศรัทธาในพื้นที่วัดทั่วประเทศ

           (๑)  การออกแบบผังแม่บท และจัดทำแผนพัฒนากายภาพของวัด เพื่อให้วัดมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และอาคารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการวางแผนและออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่พัฒนาไปอย่างสะเปะสปะ    

           (๒) การออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์และการจัดการพื้นที่สีเขียว-พื้นที่สาธารณะ  โดยมุ่งเน้นการจัดการพื้นที่ทางกายภาพของวัดให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนและเป็นที่ทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เพิ่มพื้นที่สีเขียวของวัดให้เป็นสถานที่เรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้วัดมีพื้นที่สาธารณะสำหรับคนทั่วไปที่เข้ามาในวัด มุ่งเน้นการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา การเดินทางพักผ่อนเพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ของวัดเป็นพื้นที่ของทุกคน

                        (๓) การออกแบบและการจัดการอาคารอนุรักษ์-สถาปัตยกรรม ให้วัดมีการจัดการเพื่ออนุรักษ์อาคารอนุรักษ์ สถาปัตยกรรมของวัดเพื่อทรงไว้ซึ่งคุณค่าของอาคารแบบดั้งเดิม โดยมีการออกแบบการปรับปรุง การใช้เทคนิคและกระบวนการอนุรักษ์ตามแนวคิดของอาคารแต่ละยุคสมัย เป็นต้น

                      (๔) การปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการการก่อสร้างภายในวัด เกิดการจัดสรรงบประมาณของวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมตามผังแม่บท อย่างเป็นรูปธรรม

             ๒) การจัดการสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่และโครงสร้างพื้นฐานของวัด

                   (๑) การจัดการขยะ ของเสีย น้ำเสียและบริเวณที่สกปรก โดยให้วัดและชุมชนได้มีการพัฒนาระบบการจัดการขยะของเสีย และน้ำเสียภายในวัด เริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะ ของเสีย การมีถังหรือภาชนะรองรับการทิ้งขยะของคนที่เข้ามาในวัดและพระภิกษุ-สามเณร ตลอดจนการให้ความรู้เรื่องความสะอาด การเป็นระเบียบเรียบร้อยของวัดและพื้นที่ส่วนกลางของวัด

                   (๒) การจัดการพื้นที่ห้องน้ำ-ลานจอดรถ ให้วัดและชุมชนมีการจัดการพื้นที่ห้องน้ำ-ลานจอดรถให้มีความสะอาด สวยงามเป็นสัดส่วน มีการดูแลห้องน้ำและระบบการจอดรถ เช่น การนำป้ายมาบ่งบอกเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจและมีระเบียบในการจอดรถ-การใช้ห้องน้ำ  

                   (๓) การจัดการสวนพุทธธรรม-สวนสมุนไพร-สวนสุขภาพ ให้วัดที่มีความพร้อมมีการจัดการสวนพุทธธรรมหรือสวนแบบเซน รวมทั้งสวนสมุนไพร สถานที่บริการสุขภาพ เพื่อให้เป็นที่เรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาด้านสุขภาพ และการสร้างความสงบให้กับบุคคลที่เข้ามาเรียนรู้ภายในวัดตามหลักพุทธธรรม

                   (๔) การจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ให้วัดและชุมชนมีการจัดการเพื่อการประหยัดพลังงาน ลดการใช้ขยะและมีการจัดการสิ่งแวดล้อมตามหลัก ๕ส และ 3R เป็นต้น

                   (๕) การจัดการพื้นที่บำเพ็ญกุล เช่น อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ หรือพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ให้มีความสะอาด เหมาะสมต่อการบำเพ็ญกุศล ให้มีความเรียบง่ายเพื่อปลูกฝังศรัทธาและสร้างปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนา

             ๒. การจัดการพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ ให้วัดและชุมชนได้มีการจัดการพื้นที่ทางสังคมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมเชิงพุทธที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายในวัด โดยพัฒนากิจกรรมทางสังคม เช่น 

                   (๑ ) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิถีพุทธ เช่น การทำจิตอาสาของคนในชุมชน การจัดการพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะเป็นลานวัด ลานกีฬา ลานวัฒนธรรม ลานกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด การจัดกิจกรรมเชิงประเพณีของสังคมไทย การทำบุญตักบาตร เป็นต้น

                   (๒) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในวัดและชุมชน เช่น การบวชป่า การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ การจัดพื้นที่อนุรักษ์ของวัดและชุมชน เป็นต้น

                   (๓) การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม เช่น การส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง และประเพณีอื่นๆ ของแต่ละชุมชน/ท้องถิ่น ให้เป็นกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

             ๓. การจัดการพื้นที่ทางจิตวิญญาณและปัญญา โดยการจัดให้พื้นที่ของวัด เช่น อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นสถานที่แสดงธรรมเทศนา บรรยายธรรม  ส่งเสริมการเรียนรู้วิถีพุทธ เช่น

                   (๑) การจัดกิจกรรมบรรยายธรรมประจำวันพระ และวันสำคัญทางศาสนา

                   (๒) ส่งเสริมการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

                   (๓) ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณ

                   (๔) การจัดให้มีพื้นที่การเรียนรู้ทางจิตใจและปัญญาผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น